ecommerce

ประสบการณ์การทำธุรกิจออนไลน์

หลังจากทำธุรกิจออนไลน์ (โดยไม่มีหน้าร้าน) มาเกือบ 10 ปี อยากจะแชร์ข้อดี และข้อเสียของสิ่งที่ทำ เผื่อจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ ที่อยากมีธุรกิจ e-commerce เป็นของตนเอง

ธุรกิจที่ทำอยู่ในแวดวงคอมพิวเตอร์ ตอนวาดโครงการที่จะทำ คิดไว้ว่าจะทำยอดขายให้ได้ปีละ 300 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่น่ามากเกินไป เพราะอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 1 ชิ้น มีมูลค่าหลักพันบาท การจะมียอดขายถึงหลักร้อยล้าน ไม่น่าจะยาก

ว่าแล้วก็เริ่มต้นทำ website online shopping โดยเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2004 และเสร็จเป็นรูปเป็นร่างช่วงปลายปี (ที่ใช้เวลานาน ส่วนหนึ่งเพราะต้องทำ modules ต่างๆ เองเกือบทั้งหมด) ในปีแรก มียอดขายราวๆ 30,000 บาท (น้อยมากๆ) พอปีต่อมายอดขายก็เติบโตขึ้นเป็นหลักแสนบาท และโตต่อเนื่องทุกปี จนยอดขายแตะล้านบาทในไม่กี่ปี และสุดท้ายแตะหลักสิบล้านบาท/ปี (ยอดขายสูงสุดที่ทำได้ ประมาณ 30 กว่าล้านบาท/ปี) แต่ก็ไม่เคยถึงเป้า 300 ล้าน เพราะอะไร เดี๋ยวจะอธิบายอีกที

ข้อดีของธุรกิจที่ทำอยู่

  • เลือกที่จะไม่มีหน้าร้านได้ เพราะสินค้าเกือบทั้งหมด เป็นสินค้าที่ไม่ต้องจับต้อง ก่อนซื้อ ไม่เหมือนพวก เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ที่มีความแตกต่างที่หลากหลาย ทั้งขนาดที่ไม่มาตรฐาน สีผ้า เนื้อผ้า ฯลฯ
  • ไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าไว้มากเกินไป เพราะมี distributors คอยจัดการ stock ในไทยอยู่แล้ว และการจัดส่งสินค้าของ distributor ก็ทำได้รวดเร็วพอสมควร
  • คู่แข่งใน กทม. เกิดได้ยาก เพราะต้นทุนในการประกอบธุรกิจค่อนข้างสูง (เช่าหน้าร้านแพง + ต้องสต็อกสินค้าหลากหลาย + สินค้าแต่ละชิ้นมูลค่าสูง)
  • คู่แข่ง ใน ตจว. ยิ่งเกิดยาก เพราะไม่สามารถสต็อกสินค้ามากเกินไปได้ (สินค้ามีค่าเสื่อมสูงแบบไม่น่าเชื่อ)
  • การรับประกันสินค้าของ distributor ในไทยมีมาตรฐานสูง ทำให้ไม่ต้องรับภาระกรณีสินค้าที่ส่งไปมีปัญหา ทาง distributor ดูแลให้ทั้งหมด
  • บริษัทมีต้นทุนการจัดส่งต่ำ เพราะบริษัทตั้งอยู่ใจกลางศูนย์บริการขนส่งสินค้า มีบริษัทขนส่งอยู่ในพื้นที่เยอะมาก ครอบคลุมแทบจะทั้งประเทศ และมาตรฐานการจัดส่งแต่ละที่ ก็ค่อนข้างดี ไว้ใจได้

ข้อเสีย

  • สินค้าคอมพิวเตอร์มี margin ต่ำมาก กำไรต่อชิ้นต่ำจนน่าตกใจ (เมืองไทยแข่งกันตัดราคาด้วยส่วนหนึ่ง)
  • Distributor แต่ละราย บังคับยอดสั่งซื้อขั้นต่ำ ทำให้ในบางวัน ต้องสต็อกสินค้ามากเกินความจำเป็น
  • สินค้าคอมพิวเตอร์ มีค่าเสื่อมสูงมาก หากขายไม่ได้ภายใน 6-12 เดือน อาจจะทำให้ขาดทุนได้มากถึง 30-50%
  • การไม่มีหน้าร้าน ทำให้เสียโอกาสการขายไปพอสมควร เพราะลูกค้าบางราย ไม่ไว้ใจที่จะโอนเงินค่าสินค้า ก่อนได้เห็นหน้าร้านจริงๆ
  • ระบบชำระเงิน ยังต้องเป็นแบบ manual คือ ให้ลูกค้าออกไปโอนเงิน ผ่านทางธนาคาร หรือทางตู้ ATM ส่วนระบบ electronic payment ทำไม่ได้จริง เพราะค่า fee แต่ละธนาคารสูงมาก บางธนาคารสูงจนเกินกำไรต่อหน่วยของสินค้าเสียอีก

เปรียบเทียบข้อดี และข้อเสียของธุรกิจ online shopping ตัวนี้แล้ว อาจจะทำให้ภาพการเริ่มต้นการทำธุรกิจ e-commerce ชัดขึ้นสำหรับหลายๆ คน

ถึงแม้ปัจจุบันธุรกิจที่ทำอยู่ ยอดขายจะลดลงเรื่อยๆ แต่โดยส่วนตัว ยังมั่นใจว่าธุรกิจ e-commerce เป็นคำตอบสำหรับการประกอบธุรกิจจริง ไม่ใช่แค่ความเพ้อฝัน ถ้าเรารู้จักปรับตัว เอาใจใส่ และมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำจริงๆ ก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้

Note: ปัจจุบันยอดขายของบริษัท ลดลงกว่าปีก่อนๆ เยอะมาก ส่วนหนึ่งเพราะตลาดคอมพิวเตอร์หดตัวอย่างรุนแรง จากการเข้ามาของ Mobile devices ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง smartphones, tablets, etc.

Runner. Investor. Father.