จิตวิทยาการลงทุน

บ่อยครั้งที่มนุษย์เราเลือกตัวเลือกที่ไม่สมเหตุสมผลในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าการกินผัก ผลไม้ และกินแต่พอดี ดีกับร่างกาย แต่เรากลับเลือกกินบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง กินเนื้อสัตว์ในปริมาณมากๆ หรือ เรารู้ว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องดี แต่เรากลับไม่ทำ อ้างไม่มีเวลา อ้างโน่นอ้างนี่ไปเรื่อย

นี่เป็นหนึ่งในกับดักทางจิตวิทยาในชีวิตประจำวันของเรา

เราจะมาดูกันว่า กับดักทางจิตวิทยา มีผลกับการตัดสินใจลงทุนของเราอย่างไรบ้าง

กับดักตัวแรก มั่นใจในตัวเองมากเกินไป

ถ้ามีคนถามเราว่าความสามารถในการขับรถของเรา อยู่ในระดับไหน

คนส่วนใหญ่จะตอบว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย น้อยคนจะคิดว่าตนเองขับรถได้แย่กว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งในทางสถิติ ค่าเฉลี่ยเป็นค่ากลาง ที่มีด้านดีกว่าค่าเฉลี่ย และแย่กว่าค่าเฉลี่ย อย่างละเท่าๆ กัน การที่คนส่วนใหญ่คิดว่าตนเองขับรถได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย บ่งบอกว่าเรามีความมั่นใจในตนเองสูงกว่าความเป็นจริง

การที่เรามั่นใจในตนเองมากเกินพอดี ทำให้เราลงทุนผิดพลาดได้ เช่น

การลงทุนในตราสารทุนที่มีความเสี่ยง แต่เรากลับมั่นใจอย่างผิดๆ ว่าไม่เสี่ยง

การไม่รับฟังความเห็นแย้งของผู้อื่น เพราะคิดว่าเราถูกฝ่ายเดียว

ลงทุนในกิจการที่ให้ผลตอบแทนไม่ดี แต่เรากลับคิดว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี

ลงทุนในหุ้นตัวเดียว หรือน้อยตัว โดยไม่กระจายความเสี่ยง ใช้มาร์จิ้น หรือกู้เงินมาซื้อเพิ่ม ด้วยความมั่นใจที่มากเกินไป

กับดักตัวที่สอง ยึดติดกับราคาอ้างอิง

เรามักจะจำว่าหุ้นที่เราเคยซื้อ มีต้นทุนเท่าไหร่ และยึดติดกับราคานั้น เช่น สมมุติเราซื้อหุ้น A มาที่ราคา 5 บาท เมื่อราคาหุ้น A ตกลงไปเหลือ 4 บาท เราจะยึดติดกับราคาทุนที่ 5 บาท ถ้าต้องขายที่ 4 บาท จะทำใจขายไม่ได้ เพราะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาอ้างอิง

ในความเป็นจริง หลักการลงทุนที่ถูกต้อง เราไม่ควรยึดติดกับราคาอ้างอิง มูลค่ากิจการไม่ขึ้นกับราคาอ้างอิงของแต่ละคน เราควรจะคำนวณมูลค่ากิจการในอนาคต เทียบกับมูลค่ากิจการในปัจจุบัน ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ และตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลเป็นหลัก ตัวเลขราคาอ้างอิง ไม่ควรมีผลกับการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น

อีกตัวอย่างของการยึดติดราคาอ้างอิง เช่น หุ้น B ราคาตกจาก 100 บาท ลงมาเหลือ 50 บาท พอเราเห็นก็คิดไปว่าหุ้น B ราคาถูกมาก เพราะลงมาแล้วตั้ง 50% ทั้งที่ในความเป็นจริง ราคา 50 บาท ก็อาจจะยังแพงเกินไปด้วยซ้ำ อีกทั้งไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าราคาหุ้น B จะกลับไปที่ 100 บาท

การยึดติดกับราคาในอดีต เช่น หุ้น C เป็นหุ้นเติบโต เราเคยเห็นที่ราคา 2 บาท มาวันนี้เห็นที่ราคา 10 บาท ขึ้นมาแล้ว 5 เท่าตัว พอเห็นว่าขึ้นมามากแล้ว เลยไม่กล้าซื้อ เวลาผ่านไป หุ้น C เติบโตอีกมาก ราคาวิ่งไป 40 บาท ภายในไม่กี่ปี

การยึดติดกับราคาที่เคยซื้อขายในอดีต เช่น หุ้น D เราเคยซื้อมาในราคา 5 บาท และขายไปในราคา 6 บาท ถ้าราคามันวิ่งไป 7 บาท เราจะไม่กล้าซื้อกลับมา แม้ว่าเราจะคำนวณมูลค่ากิจการได้สูงถึง 10 บาทก็ตาม

ความเจ็บปวดในการยอมรับว่าตัวเราเองตัดสินใจผิดพลาด ทำให้เราเลือกไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ

กับดักเงินปันผล

เรามักจะยึดติดกับบริษัทที่เคยมีประวัติปันผลดี และเลือกลงทุนโดยมองแค่ตัวเลขเงินปันผลต่อปี ทั้งที่ตัวเลขนี้ไม่ได้ยืนยันอะไรเลย เราควรจะมองไปที่กิจการมากกว่า ว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

กับดักทางความคิดจากคนรอบข้าง

เราเข้าไป webboard ได้เห็นคนพูดถึงหุ้น E ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ การได้ยินว่ามีนักลงทุนชื่อดัง สะสมหุ้น F อยู่ หรือการได้ฟังนักวิเคราะห์เชียร์ซื้อหุ้น I ทำให้เราอยากที่จะซื้อหุ้นตัวนั้น เป็นต้น

ในช่วงภาวะวิกฤต เรามักจะเห็นนักวิเคราะห์ หรือคนรอบข้าง เชียร์ขายหุ้น เพราะทุกคนกลัวว่าตลาดจะยังตกลงไปได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเราเชื่อตามคนพวกนี้ เราก็จะเลือกที่จะขายหุ้นทั้งหมดในพอร์ททิ้ง หรือเลือกไม่ซื้อหุ้นเพิ่ม ทั้งที่มันควรจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการสะสมหุ้นชั้นดี ในราคา grand sale

กับดักจากการกลัวความสูญเสีย หรือ loss aversion bias

สมมุตว่าเราซื้อหุ้น J มาที่ราคา 10 บาท แล้วมันตกลงไป 8 บาท เราจะใจเสียไม่กล้าขาย แม้ว่าธุรกิจ J จะมีแนวโน้มย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม เพราะเมื่อไหร่ที่เราขายหุ้น J แปลว่าเรายอมรับว่าเราตัดสินใจผิดพลาด และเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเจ็บปวดนี้ เรามักจะเลือกถือหุ้น J ต่อไป ทั้งที่ไม่มีอนาคต โดยปลอบใจตัวเองว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน”

มี case study ตัวหนึ่งพิสูจน์ได้ว่าความทุกข์ที่เกิดจากการขาดทุน รุนแรงกว่าความสุขที่ได้จากการได้กำไรเป็น 2 เท่าตัว นั่นทำให้คนเราเลือกทำในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลในการลงทุน เช่น ไม่ขายหุ้นไร้อนาคต เพราะกลัวความทุกข์จากการขายขาดทุน

นอกจากกลัวความทุกข์จากการขายขาดทุนแล้ว เรายังกลัวว่า เมื่อขายหุ้นไปแล้ว หุ้นอาจจะวิ่งกลับขึ้นไป จะยิ่งเจ็บปวดหนักกว่าเดิม

หลักการลงทุนที่ถูกต้อง เราควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติม และคำนวณมูลค่ากิจการในอนาคตอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าเราคำนวณผิดพลาด ก็ควรยอมรับความผิดพลาดนั้น หรือหากมีเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจพื้นฐานเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เราก็ควรตัดสินใจบนพื้นฐานนั้นๆ โดยไม่นำอารมณ์มาเกี่ยวข้อง

กับดักเหตุการณ์ในอดีต

เราอาจจะเคยลงทุนสมัยปี 40 แล้วเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ขาดทุนหนัก เข็ดจากการลงทุนรอบนั้น ก็เลือกหลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไปเลยตลอดชีวิต ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า “snake bite effect” แม้จะรู้ว่าตลาดทุนให้ผลตอบแทนดีที่สุดในระยะยาว แต่ด้วยเหตุการณ์จำในอดีต ทำให้เราเลือกที่จะไม่กลับเข้าไปในตลาดอีก

กลับกัน หากในอดีต เราเคยเล่นหุ้นปั่น แล้วได้กำไรเยอะๆ เรามีแนวโน้มที่จะเล่นหุ้นปั่นซ้ำอีกเรื่อยๆ เพราะเราจำภาพอดีตว่าหุ้นปั่นทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งเราคิดว่าเงินก้อนนี้ที่กำไรมา มันไม่ใช่เงินของเราตั้งแต่แรก ทำให้เรากล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริง เราไม่ควรคิดว่าเงินกำไร ไม่ใช่ของเรา ทั้งเงินที่เราหาได้จากการทำงาน และเงินกำไรจากการเล่นหุ้น มันก็คือเงินเราทั้งหมด ควรจะดูแลเงิน 2 ก้อนนี้เสมือนเงินออมของเราทั้งก้อน

กับดักความคุ้นเคย

นักลงทุนส่วนใหญ่ มักจะเลือกลงทุนในกิจการที่เราคุ้นเคย โดยที่ไม่มองมูลค่ากิจการว่าแพงเกินไปแล้วหรือไม่

การที่เราเห็นจุดบกพร่องของสินค้าชิ้นหนึ่ง พาลทำให้คิดว่าบริษัทนี้ไม่น่าลงทุน ทั้งที่ข้อบกพร่องเหล่านั้น ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่อะไร ถ้าเทียบกับศักยภาพของบริษัท

การที่เราศึกษาหุ้นบริษัทหนึ่งจนมั่นใจว่าน่าลงทุน เมื่อทำการซื้อหุ้นไปแล้ว ได้รับข้อมูลเชิงลบ เราก็เลือกที่จะมองข้ามข้อมูลเหล่านั้น เพราะไม่งั้นจะเท่ากับว่าเรายอมรับว่าเราตัดสินใจผิดพลาด

การเชื่อข้อมูลที่ฟังต่อๆ มา ทั้งจากคนรอบข้าง นักวิเคราะห์ หรือแม้แต่จากตัวผู้บริหารเอง แล้ว take action จากข้อมูลเหล่านั้น โดยไม่มองว่ามูลค่ากิจการ มันสูงเกินไปแล้วหรือยัง

กับดักทางด้านอารมณ์

ในช่วงภาวะตลาดปกติ เราอาจจะมองหุ้น J ไว้ว่า ถ้าราคามันตกลงมา 6 บาท เราจะซื้อ แต่พอเกิดวิกฤต หุ้น J ตกรวดเดียวจาก 10 บาท มา 6 บาท แทนที่เราจะทำตามที่เราเคยคิดไว้ เรากลับเกิดความกลัวว่ามันอาจจะตกลงไปอีก ขอรอซื้อหุ้น J ที่ 4-5 บาทแทน

กับดักเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนที่เชื่อคนง่าย และใช้อารมณ์กับการลงทุนเป็นหลัก

วิธีหลีกเลี่ยงกับดักเหล่านี้ที่ดีที่สุด คือ หมั่นศึกษา หาข้อมูลเพิ่มเติม เรียนรู้ และหัดวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง

รวมทั้งยึดมั่นในหลักการการลงทุนของตนเอง ไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง

อ้างอิง:

Runner. Investor. Father.