save up

ประสบการณ์การลงทุน สู่อิสรภาพทางการเงิน

Note: บทความนี้ย้ายมาจาก blog papabejita ในชื่อ “ประสบการณ์การลงทุน 8 ปี จาก 2 แสน เป็น 10 ล้าน” ถ้าใครเคยอ่านแล้ว ผ่านได้เลยครับ มีปรับปรุงเนื้อหานิดหน่อย แต่ใจความหลักๆ คงเดิมครับ

 

ช่วงปีแรกๆ ที่เก็บออม ไม่เชื่อในเรื่องการลงทุน (โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น) เชื่อแต่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ แล้วเอาเงินที่ได้ไปต่อยอดธุรกิจ เพิ่มยอดขาย สะสมกำไรไปเรื่อยๆ ดีกว่า

แต่พอได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนหลายๆ เล่ม เช่น ออมก่อนรวยกว่า, ตีแตก, กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ, ฯลฯ ทำให้มุมมองเกี่ยวกับการลงทุนเปลี่ยนไป ได้เรียนรู้หลักการออมเงิน ด้วยการลงทุนในหลายๆ รูปแบบ รู้ถึงความเสี่ยงของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ กัน และท้ายสุดก็เริ่มลงทุนในตลาดหุ้น โดยนำเงินออมส่วนเกิน จากการทำธุรกิจ มาลงทุน

ช่วงแรกๆ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินประมาณ 2 แสนบาท โดยกระจายลงทุน ในหุ้นพื้นฐานดี เช่น หุ้นในกลุ่มค้าปลีก และหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความผันผวนต่ำ เน้นความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนปานกลาง มีปันผลเป็นหลัก

เวลาผ่านไปไม่กี่เดือน ดัชนีตลาดหุ้นก็ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ และหุ้นในพอร์ทก็เติบโตขึ้นตามดัชนี ทำให้มีกำไรประมาณ 10% (ยังไม่รวมปันผลอีกประมาณ 3-4%) ด้วยความที่เข้าตลาดฯ มาปุ๊บก็ได้กำไรเลย ทำให้คิดไปเองว่าเรานี่ก็ลงทุนเก่งพอตัว แล้วพอบวกกับมีการเติมเงินเข้าไปเรื่อยๆ จากทั้งเงินกำไรจากการทำธุรกิจ และเงินเก็บของภรรยา ทำให้ช่วงนั้นพอร์ทโตค่อนข้างเร็ว

พอลงทุนไปได้ซักพัก+อ่านตามเว็บบอร์ด เห็นใครหลายๆ คน ได้กำไรมากกว่าหลายเท่าตัว บางเดือนได้กันเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เกิดความโลภ รู้สึกว่าเราน่าจะทำกำไรได้มากกว่านี้ ถ้าแค่ซื้อตามเซียน จากนั้นก็เริ่มปรับพอร์ท จากหุ้นพื้นฐานดีๆ ไปเป็นหุ้นตามกระแส ตัวไหนคนพูดถึงเยอะ ก็เข้าตัวนั้น โดยไม่สนใจพื้นฐานของบริษัท ว่าทำอะไร มีกำไรจากไหน คู่แข่งมีใครบ้าง ไม่อ่านงบการเงิน ไม่สนใจอะไรเลย สนใจแต่ส่วนต่างราคา ที่จะทำให้ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำในเวลาสั้นๆ

แรกๆ ก็ได้กำไรดี เพราะหุ้นตามกระแสพวกนี้ มักอยู่ในความสนใจของนักลงทุน ยิ่งวันไหนมีข่าวลือ ข่าวดี ราคาหุ้นก็พุ่งกระฉูด ได้กำไรกันถ้วนหน้า แต่หารู้ไม่ ว่าราคาที่ขึ้นไปนั้น เป็นราคาที่เกินมูลค่าที่แท้จริงไปมาก ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

ผ่านไปได้ไม่กี่เดือน ก็เกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ส่งผลถึงประเทศไทยโดยเฉพาะตลาดทุน ช่วงนั้นหุ้นตกหนักมาก ตกแทบทุกวัน หุ้นหลายตัวที่ถืออยู่ในพอร์ท ตกหนักกว่าตลาดแทบทั้งหมด ด้วยเพราะส่วนใหญ่ เป็นหุ้นตามกระแส ซึ่งมูลค่าเกินพื้นฐานไปค่อนข้างมาก

พอร์ทตอนนั้น จาก 8 แสนกว่าบาท เหลือประมาณ 3 แสนกว่าบาท หายไปมากกว่าครึ่ง แถมเป็นของภรรยาด้วยส่วนหนึ่ง ช่วงนั้นเครียดมาก คิดอะไรไม่ออก หูอื้อไปหมด ไม่รู้จะทำยังไงดี เพราะเงินเก็บตรงนี้ ต้องเตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายภายในครอบครัวด้วย

ความฝันที่จะมีเงินออม 1 ล้านบาทก่อนอายุ 35 เรียกว่าดับสูญไปเลย ดัชนีลดลงแบบไม่มีจุดสิ้นสุด (ดัชนีตอนต้นปีอยู่ที่ 842.97 จุด และลดลงไปต่ำสุด 380.05 จุด)

จากที่คิดว่าเราแน่ มีฝีมือในการลงทุนพอตัว ก็เริ่มไม่แน่ซะแล้ว ทั้งเครียด ทั้งสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก รู้สึกเหมือนชีวิตกำลังจะเดินเข้าสู่ทางตัน สุดท้ายเมื่อทำอะไรไม่ได้มาก ก็ตัดสินใจหาความรู้เพิ่มเติม ด้วยการไล่อ่านหนังสือการลงทุน ที่แนะนำโดยนักลงทุนรุ่นเก่าๆ รวมทั้งหนังสือแปลจากต่างประเทศอีกหลายต่อหลายเล่ม เช่น The Essential Buffett, One Up on Wall Street, The Intelligent Investor, ฯลฯ

หนังสือการลงทุนที่อ่าน จริงๆ มีเยอะมาก รวมๆ น่าจะหลายสิบเล่ม โดยเฉพาะหนังสือแปล ที่เน้นแนวทางการลงทุนของ Warren Buffett (ปัจจุบัน Buffett ถือเป็น Idol ทางการลงทุน และการใช้ชีวิตเลยทีเดียว)

หนังสือการลงทุนทุกเล่มที่อ่าน ล้วนแต่มีประโยชน์ในแง่การให้ความรู้ ทั้งทางด้านบัญชี และความรู้ในการลงทุน แต่เล่มที่ทำให้เข้าใจถึงพื้นฐานการลงทุนมากที่สุด ที่อยากแนะนำ มี 2 เล่ม คือ The Intelligent Investor โดย Benjamin Graham และ One Up on Wall Street โดย Peter Lynch ส่วนหนังสือที่ถือว่าจุดประกายด้านการลงทุนมากที่สุด ก็คงต้องยกให้ “ตีแตก” ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร (จำชื่อ-นามสกุลแกได้ขึ้นใจเลย เพราะนับถือแกเป็น idol ทางด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนไทยคนแรก และคนเดียว ที่เน้นให้ความรู้ แบบไม่หวังผลตอบแทน, บทความฟรีที่แกเขียนให้ความรู้ทุกอาทิตย์ อ่านแล้วได้คิดตาม เป็นประโยชน์กับการลงทุนมาก)

หลังจากที่ได้อ่านหนังสือการลงทุนที่ดีๆ บวกกับมีเวลาทบทวนความผิดพลาด ในการลงทุนที่ผ่านๆ มา ก็เริ่มต้นใหม่ ด้วยการเริ่มอดออม และลงทุนอย่างรอบคอบมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุน โดยอาศัยความรู้ที่พอจะนำมาใช้ได้ จากการอ่านหนังสือหลายๆ เล่ม เช่น การเลือกหุ้นบริษัทที่มีการเติบโตต่อเนื่อง (Growth stock), หุ้นบริษัทที่กำลังประสบปัญหา เนื่องจากวิกฤตบางประการ แต่พื้นฐานของกิจการไม่ได้เปลี่ยนไป ยังดีอยู่ แต่ราคาหุ้นกลับตกหนักกว่าความเป็นจริง อาจจะด้วยความกลัว หรือความไม่มั่นใจต่างๆ นาๆ (หุ้นที่กำลังเกิดภาวะวิกฤตพวกนี้ Mr.Market มักจะให้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่บ่อยครั้ง), รวมถึงหุ้นที่เคยย่ำแย่ในอดีต แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาในด้านบวกมากขึ้น และมีแนวโน้มจะพลิกฟื้นธุรกิจได้ (Turn-around stock)

นอกจากปรับปรุงแนวทางการลงทุนแล้ว ยังเข้มงวดกับตัวเอง โดยการวางแผนออมเงินให้มากขึ้น (เก็บเงินออมมากกว่า 60-80% ทุกเดือน ก่อนนำไปใช้จ่าย และงดซื้อของชิ้นใหญ่ๆ รวมทั้งของฟุ่มเฟือยทั้งหมด) ทั้งนี้ก็เพื่อนำเงินมาลงทุนเพิ่มให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ในแต่ละเดือน

ช่วงนั้นตลาดหุ้นทรงตัวอยู่นานมาก ไม่ไปไหน ทำให้มีเวลาเก็บหุ้นบริษัทชั้นดี (ที่กำลังประสบภาวะวิกฤต) ในราคาต่ำๆ ได้มากพอสมควร – ใครที่มีรายได้ประจำ จะได้เปรียบนักลงทุนที่ลาออกจากงานเพื่อมาเล่นหุ้นเต็มตัวตรงนี้ คือ ไม่ว่าตลาดหุ้นจะตกต่ำแค่ไหน ก็ไม่หวั่นไหว เพราะมีเงินมาซื้อหุ้นได้ทุกเดือน แถมซื้อได้จำนวนหุ้นมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น หุ้นนิคมอุตสาหกรรมตัวนึง ตอนนั้นเคยซื้อหุ้นละ 18 บาท ถ้ามีเงิน 18,000 บาท ก็ซื้อได้ 1,000 หุ้น แต่พอเกิดวิกฤต ราคาหุ้นตกไปเหลือ 6 บาท ทีนี้เงิน 18,000 บาท เท่าๆ กัน แต่กลับซื้อหุ้นได้มากถึง 3,000 หุ้น เรียกว่าออมหุ้นได้มากขึ้น 3 เท่าจากช่วงปกติเลยทีเดียว

หลังจาก Sub prime จบไปได้ซักพัก ภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ตลาดหุ้นฟื้นตัว หุ้นที่เราเลือกลงทุนไว้ ก็เริ่มขยับ แถมเป็นการขยับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เพราะตัวกิจการเองจริงๆ แล้วพื้นฐานค่อนข้างดีอยู่แล้ว พอเศรษฐกิจดีขึ้น การบริโภคกลับมา บริษัทก็สามารถกลับมาสร้างยอดขาย และกำไรได้อีกครั้ง แถมคราวนี้บริษัทสามารถทำยอดขาย/กำไร ได้มากกว่าก่อนช่วงวิกฤตเสียอีก ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤต คู่แข่งที่เป็นบริษัทขนาดกลาง หรือขนาดเล็กๆ ที่สายป่านไม่ยาวพอ หรือฐานลูกค้าไม่มากพอ ไม่สามารถฝ่าวิกฤตมาได้ และทะยอยล้มหายตายจากไปทีละราย ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของรายใหญ่ๆ เพิ่มขึ้น

ช่วงนั้นหุ้นในพอร์ทที่เลือกไว้ ขึ้นมากกว่าตลาดแทบทุกตัว ทำให้เงินลงทุนที่เหลืออยู่ 3 แสนกว่าบาท เพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นหลักล้านบาทภายในไม่ถึงปี และเป็นการมีเงินออมเกิน 1 ล้านบาท ครั้งแรกในชีวิตด้วย เรียกว่ามาแบบไม่ทันตั้งตัวเลย

หลังจากที่ลงทุนตามแนวทางที่เน้นส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก (margin of safety) บวกกับยังประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อนำเงินมาลงทุนเพิ่มเติม ก็ทำให้พอร์ทค่อยๆ โตขึ้นตามลำดับ (รู้สึกตอนนั้นพอร์ทจะขึ้นไปจนเกือบๆ 2 ล้านบาท)

แต่ผ่านไปอีกไม่ถึง 2 ปี ก็เกิดวิกฤตอีกรอบ พอร์ทที่เติบโตมาเรื่อยๆ ก็มาเสียหายอีกครั้ง (ติดลบไปประมาณ 40% – จาก 2 ล้านเศษๆ เหลือไม่ถึง 1.2 ล้านบาท) แต่คราวนี้ ไม่มีโอกาสแก้ตัว เพราะที่บ้านประสบปัญหาทางการเงิน มีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน ทำให้ต้องตัดใจขายหุ้นที่กำลังขาดทุนไปเกือบหมดพอร์ท และนำเงินที่ขายหุ้นได้ทั้งหมดให้ที่บ้าน (ประมาณ 1 ล้านบาท)

คงเหลือในพอร์ทลงทุนราวๆ แสนกว่าบาท แล้วก็เริ่มลงทุนใหม่อีกรอบด้วยเงินจำนวนนี้

ตอนนั้นในใจก็ไม่คิดว่าจะออมเงินได้ถึงเป้าหมายแล้ว (เป้าหมายเงินออม คือ มีรายได้จากเงินปันผล เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในครอบครัว รวมทั้งค่ารักษาพยาบาล และค่าเทอมลูกๆ ในแต่ละปี)

ด้วยเงินออมเริ่มต้นที่น้อยลงมาก คิดว่าลงทุนยังไง ก็คงไม่สามารถทำให้มันโตไปได้ซักเท่าไหร่ ที่เคยออมได้มาก ส่วนหนึ่งก็เพราะได้ซื้อหุ้นราคาถูกหลายตัว ในช่วงวิกฤต แต่ ณ ตอนนี้ราคาหุ้นแทบทุกตัว ก็ขึ้นมาหมดแล้ว คงไม่มีทางลงทุนได้ดีเหมือนก่อน … แต่ก็ผิดคาด…

หลังจากตัดใจตัดขาดทุน แล้วเอาเงินให้ที่บ้าน ก็กลับมาเริ่มลงทุนใหม่อีกรอบตามแนวทางของ Ben Graham และ Peter Lynch โดยเลือกลงทุนในหุ้นก้นบุหรี่ และหุ้นฟื้นตัว เป็นหลัก ซึ่งบางตัวก็ฟื้น บางตัวก็ไม่ฟื้น แต่ตัวที่ฟื้น ฟื้นทีหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ บวกกับเงินออมที่ใส่เพิ่มเข้าไปทุกเดือน ก็ทำให้พอร์ทโตไวมาก จากแสนกว่าบาท กลายเป็นหลายแสนบาท และสุดท้ายเพิ่มขึ้นจนเป็นหนึ่งล้านบาทอีกครั้ง ภายในเวลาแค่ปีกว่าๆ

ลงทุนมาเรื่อยๆ ทุกเดือนจะกันเงินส่วนใหญ่ มาออมในหุ้นทั้งหมด ก่อนลงทุน จะติดตามกิจการบริษัทนานหลายเดือน จนกว่าจะมั่นใจ และเริ่มลงทุน…

ปัจจุบัน ลงทุนมาประมาณ 8 ปีเศษ มีเงินปันผลจากตลาดหุ้นมากพอที่จะเกษียณตัวเอง เพื่อไปทำงานที่ชอบ โดยไม่ต้องห่วงว่ารายได้จะไม่พอกับค่าใช้จ่าย (ถ้าใช้ประหยัดๆ หน่อย) และสามารถส่งลูกๆ เรียนจนจบปริญญาได้โดยไม่ต้องรบกวนเงินจากทางบ้าน

ถึงตอนนี้ก็พอจะเรียกได้ว่า มีอิสระภาพทางการเงินในระดับนึง ไม่ได้ร่ำรวยมากขนาดจับจ่าย ซื้อของได้ทุกสิ่งอย่าง มีพอใช้จ่ายสำหรับครอบครัว และสำหรับการศึกษาลูกๆ ในอนาคต แต่มาไกลขนาดนี้ก็พอใจมากละ ไม่ต้องออกไปทำงานล่วงเวลา มีเวลาเหลือให้กับครอบครัว มีเวลาทำงานอย่างอื่น ไล่ตามความฝันของตัวเอง

บทส่งท้าย: ประสบการณ์การลงทุน ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เพื่อว่ามีคนรู้จัก หรือเพื่อนคนไหน พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ก็อยากให้ลองนำเงินนั้นมาลงทุนให้งอกเงย (ใช้เงินทำงาน) ไม่อยากให้เอาเงินแช่ไว้ในธนาคาร เพราะอัตราเงินเฟ้อปัจจุบัน สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างมาก

ถ้ารู้สึกว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงสูงเกินไป แนะนำให้ลองดูเป็นพวกพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ หรือกองทุนรูปแบบต่างๆ ประเมินความเสี่ยงที่เราพอรับได้ แล้วเลือกลงทุนดู ยิ่งเราเริ่มต้นลงทุนเร็วเท่าไหร่ ผลตอบแทนเราจะยิ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ (อ่านเพิ่มเติม: มหัศจรรย์ดอกเบี้ยทบต้น ตอนที่ 1, ตอนที่ 2)

บางคนอาจจะติดนิสัยบินก่อน ผ่อนทีหลัง คือ ณ ตอนนี้เงินไม่มี แต่อยากได้ของใหญ่ๆ เช่น คอนโด บ้าน รถ หรือแม้กระทั่งมือถือราคาแพง ก็จะเลือกวิธีไปกู้เงินมาซื้อ หรือรูดบัตรปรี๊ดๆ แล้วค่อยทะยอยผ่อนเอา ทำให้ไม่มีเงินเก็บ เพราะต้องเสียเงินไปกับดอกเบี้ยเงินกู้ทุกเดือน

แต่ถ้าเรารอได้ พยายามอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ไม่ซื้อของใหญ่ๆ ที่เกินตัวมากๆ เก็บเงินออมไว้ พอมีมากพอ ค่อยดูว่ายังอยากได้สิ่งนั้นๆ อยู่รึเปล่า แล้วค่อยตัดสินใจซื้อด้วยเงินออมที่มี ก็จะไม่มีภาระดอกเบี้ย แถมระหว่างที่เก็บเงินรอ ก็ยังมีผลตอบแทนดีๆ จากหุ้น/พันธบัตร/กองทุน ที่เราลงทุนไปด้วย

สร้างวินัยการออมที่ดีในวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้าครับ