Investing

ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการลงทุน

ที่ผ่านมาได้แนะนำคนรู้จักหลายต่อหลายคน ให้เริ่มการลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการลงทุนระยะยาวจะสำเร็จผลได้ ต้องอาศัยเวลาเป็นตัวสำคัญ ยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะพลังของดอกเบี้ยทบต้น อาศัยเวลาเป็นปัจจัยหลัก

แต่ก็มีหลายครั้ง ที่คนรับสาร เข้าใจเราผิดๆ มีทั้งคิดว่า ชวนไปเล่นหุ้นเก็งกำไร หรือ แนะนำให้ลงทุนอะไรเสี่ยงๆ เพื่อให้รวยลัดรวยไว

จริงๆ แล้ว การลงทุน ไม่จำเป็นต้องลงในหุ้นเสมอไป ถนัดทางไหน ก็เลือกทางนั้นได้เลย แต่จะต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ รู้ให้ลึก รู้ให้จริง ในสิ่งที่เราจะลงทุน การศึกษาการลงทุนหลายๆ รูปแบบ จะช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย รวมทั้งความเสี่ยงต่างๆ เพื่อเลือกรูปแบบการลงทุน ที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด (เช่น เมื่ออายุมากๆ แล้ว ก็ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากจนเกินไป เพราะโอกาสแก้ตัวเหลือน้อยมากแล้ว เป็นต้น)

เกริ่นมายืดยาว มาเริ่มพูดถึงความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการลงทุนกันเลยดีกว่า

1. การลงทุนเหมาะกับแค่คนที่เก่งด้านนั้นๆ เท่านั้น

ความจริง คือ ในบรรดากองทุนทั้งในและต่างประเทศ จ้างผู้จัดการกองทุนที่จบเกียรตินิยม มหาลัยมีชื่อเสียงระดับประเทศ หรือระดับโลก มาดูแลกองทุนเหล่านั้น และกว่า 80% ของกองทุนพวกนี้ แพ้ผลตอบแทนของกองทุนดัชนี

คุณไม่จำเป็นต้องเก่ง หรือเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนระดับ expert ขอแค่เข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังจะลงทุน เช่น ถ้าลงทุนในหุ้น ในบริษัทมหาชน ก็ควรจะเข้าใจว่า บริษัททำธุรกิจอะไร มีใครเป็นคู่แข่งบ้าง สินค้าบริษัทเป็นอย่างไร เป็นต้น

Peter Lynch เขียนไว้ในหนังสือ One Up on Wallstreet ได้อย่างน่าสนใจว่า ผู้จัดการกองทุนที่เก่งกาจ กลับลงทุนพ่ายแพ้นักเรียนชั้น ป.4 ที่เลือกหุ้นด้วยความเข้าใจอย่างง่ายๆ (วาดภาพเกี่ยวกับตัวบริษัทได้)

2. ถ้าไม่มีเงินก้อน ลงทุนไปก็เท่านั้น

หลายคนเห็นว่าการได้ผลตอบแทนปีละ 10-15% เป็นเรื่องน่าตลก เงินลงทุนหลักแสน ได้กำไรหมื่นกว่าบาทต่อปี จะลงทุนไปทำไม โดยลืมคิดไปว่า ผลตอบแทนทบต้น อาศัยเวลาและความสม่ำเสมอ

การได้ผลตอบแทนปีละ 10-15% ในะระยยาว 20-30 ปี สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าอัศจรรย์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ไม่มีใครเริ่มต้นจากการมีเงินก้อน แต่เริ่มจากการออมทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ สะสมทบไปเรื่อยๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายๆ ปี โดยลงทุนผ่านทั้งช่วงที่ตลาดดีมาก ไปจนแย่มาก ช่วงดีก็อาจจะได้ผลตอบแทนดีเกินคาด ช่วงแย่ ก็อาจจะติดลบกันพอสมควร แต่ก็ถือเป็นโอกาสได้สะสมหุ้นดี ราคาถูกไปในตัว ระยะยาวแล้ว ถ้าเราเลือกบริษัทที่ดี และลงทุนระยะยาวพอ ราคาก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในที่สุด

3. เอาเงินไปทำธุรกิจไม่ดีกว่าเหรอ

ถ้าเรามีความสามารถ ในสิ่งที่เรากำลังจะเริ่ม เช่น ถนัดร้านอาหาร มีประสบการณ์ยาวนานกว่าสิบปี และมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในธุรกิจอาหารแน่ๆ แบบนี้ก็ควรจะนำเงินไปลงทุนในกิจการร้านอาหาร ตามที่เราถนัด

แต่ในระหว่างที่ยังไม่พร้อม เช่น ประสบการณ์ยังไม่มากพอ หรือเงินทุนยังไม่พอเปิดกิจการ ฯลฯ มันจะเป็นการดีกว่า ที่เราจะไม่นำเงินออมของเรา ไปแช่ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ในธนาคาร ซึ่งเป็นการลงทุนชั้นเลวเกือบที่สุด ในแง่ผลตอบแทน (แพ้กระทั่งเงินเฟ้อ)

การลงทุนไม่ใช่เรื่องเสี่ยง แต่เป็นเรื่องการออม หากเราเลือกที่จะออมอย่างรอบคอบ เลือกกิจการที่เราเข้าใจได้ ในราคาที่สมเหตุสมผล ในระยะยาวแล้ว ย่อมดีกว่านำเงินออมทั้งหมดไปแช่ไว้ในธนาคาร ซึ่งผลตอบแทนติดลบทุกปี

4. เล่นหุ้นมีความเสี่ยงสูง

หุ้น คือ ธุรกิจหรือกิจการ ที่มีคนทำงานกันจริงๆ หุ้นจะขึ้นหรือลง ขึ้นกับว่ากิจการนั้นๆ ไปได้ดีรึเปล่า ทุกอย่างมันมีความเสี่ยงในตัวมันเอง แม้กระทั่งการลงทุนเปิดร้านกาแฟ ที่เรามั่นใจสุดๆ ว่าเราช่ำชอง สามารถชงได้อร่อยที่สุดในประเทศ แต่พอเริ่มธุรกิจร้านกาแฟจริงๆ กลับเจ๊งไม่เป็นท่าก็มี

บริษัทในตลาดหุ้น หลายบริษัทมีประวัติการดำเนินงานที่ดีมานับสิบๆ ปี มีผู้นำองค์กรที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง และ CEO ที่ได้ชื่อว่าเก่ง ขยัน ซื่อสัตย์ การได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเหล่านี้ ดีกว่าไปหุ้นกับเพื่อน หรือคนรู้จัก ที่เราก็ไม่รู้ประวัติการทำงานซักกี่มากน้อยเป็นไหนๆ

ถ้าเราไม่เผลอใจไปเล่นหุ้น หรือลงทุนในกิจการที่เราไม่รู้ หรือไม่แน่ใจในตัวบริษัท อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าเสี่ยง แต่ถ้าลงทุนในกิจการที่เราเข้าใจ มีประวัติที่ดีมายาวนาน และยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ เราก็จะลดความเสี่ยงที่จะเสียหายจากการลงทุนได้

5. ลงทุนต้องมีเวลาเยอะๆ

จริงๆ ลงทุนไม่ต้องตามตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ อัตราแลกเปลี่ยน หรืออะไรมากมาย

แค่ซื้อกิจการที่เราเข้าใจ ในราคาสมเหตุสมผล แล้วก็ถือไว้ ตราบที่มันยังทำได้ดี

คิดเสียว่าหุ้นกับเพื่อนทำธุรกิจ แล้วเพื่อนคนนี้เก่งมากๆ ซื่อสัตย์มากๆ กำไรมาก็เอามาขยายสาขา เหลือก็ปันผลให้เราทุกปี อย่างนี้แล้ว เราจะไม่ติดนิสัยซื้อๆ ขายๆ

หรือคิดเหมือนซื้อบ้าน เราศึกษามาอย่างดี แล้วว่าบ้านหลังนี้ ทำเลนี้ ราคา 3 ล้าน สมเหตุสมผล

บ้านข้างๆ จะมาขอซื้อต่อ แล้วเสนอราคาบ้าๆ เช่นให้เรา 1.5 ล้าน แล้วย้ายออกไปเลย เราก็แค่ปฏิเสธ ไม่สนใจ หรือให้ดีเสนอซื้อบ้านเค้าแทนไปเลย

หรือถ้าบ้านข้างๆ มาเสนอซื้อบ้านเรา 8 ล้าน ซึ่งเกินมูลค่าไปมากๆ เราก็แค่ตอบรับ

ตลาดช่วงกลัวสุดขีด คนมักจะเทขาย กดราคาทุกอย่าง เราก็แค่ไม่ต้องสนใจมันมาก มีเงินก็ซื้อสะสมเพิ่ม

ส่วนช่วงดีสุดขีด คนจะโลภ วิ่งเข้าตลาด เสนอราคาจนเรียกว่าแพงแล้ว ยังแพงขึ้นไปอีก ถ้าเราเห็นว่ามันแพงเกินจริงไปมากละ ก็ขายออกไป

แนะนำให้หาบทความเกี่ยวกับ Mr.Market ดู จะเข้าใจถึงอารมณ์ตลาดฯ ได้ดีขึ้น

6. การลงทุนให้เก่ง ต้องได้ผลตอบแทนเยอะๆ

การพยายามที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนมากๆ ในแต่ละปี ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงๆ ในการออมเงิน เป้าหมายที่แท้จริงควรจะเป็นการสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม สม่ำเสมอทุกๆ ปี

การได้ผลตอบแทนดีเลิศในปีใด ปีหนึ่ง แล้วขาดทุนหนักในปีถัดไป ไม่ช่วยให้เราถึงเป้าหมายการออมเงินได้ การออมและการลงทุนที่สม่ำเสมอต่างหาก ที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายการออมเงิน

Runner. Investor. Father.