หลักการลงทุนในหุ้นเติบโต

หุ้นแต่ละตัว มันจะมีราคาที่เหมาะสมของมัน เปรียบเสมือนบ้านซักหลัง มันก็มีมูลค่าของมัน ถ้าเรารู้ว่าบ้านเราราคา 3 ล้านบาท แล้ววันดีคืนดี มีคนมาขอซื้อต่อ ในราคา 8 ล้านบาท เราก็ต้องรู้ว่าอันนี้เป็นราคาเสนอซื้อ ที่เกินพื้นฐานความเป็นจริง (ควรขาย)

แต่ถ้าคนมาขอซื้อต่อ ในราคา 1 ล้านบาท เราก็ไม่ควรจะขายให้ เพราะราคาต่ำกว่าพื้นฐานความเป็นจริง

การคำนวณมูลค่าพื้นฐานของหุ้น หรือที่เรียกว่า intrinsic value เป็นการมองไปที่อนาคตของกิจการนั้นๆ ว่าจะสามารถผลิตเงินสดตลอดอายุกิจการ ได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้ากิจการไหนเข้าใจยาก เกินความสามารถของเรา ในการคำนวณมูลค่า ก็แค่ข้ามไป และมองหาธุรกิจอื่น ที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับเรา

การลงทุนระยะยาว มีด้วยกันหลายแบบ แต่หนึ่งในธุรกิจที่จะแนะนำให้ลงทุนระยะยาว คือธุรกิจที่ยังเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง หรือเรียกว่า growth stock (เครดิต Charlie Munger)

Charlie Munger

หลักการดูว่าหุ้นตัวไหนมี growth เหลือบ้าง และควรจะลงทุนหรือไม่ ให้มองที่ส่วนแบ่งตลาด

ถ้าส่วนแบ่งตลาดยังไม่เต็ม ยังมี demand มากกว่า supply เช่น ธุรกิจให้บริการบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ต แบบนี้แสดงว่าไม่ว่าจะมีคู่แข่งในตลาดซักกี่ราย แทบทุกรายก็จะยังเติบโตไปได้เรื่อยๆ จนกว่า supply จะเพียงพอกับ demand โดยแทบไม่ต้องแข่งขันด้านการตลาดมากนัก

อีกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งไม่ว่าจะขยายสาขาไปไหน ก็มีลูกค้ามาใช้บริการ แสดงว่ายังมี demand อยู่เรื่อยๆ

ธุรกิจที่ยังเติบโตได้เรื่อยๆ โดยตลาดมี demand มากกว่า supply สามารถเป็นหุ้นเติบโต หลายๆ เด้งได้เลย

demand_supply

แต่ถ้าส่วนแบ่งตลาดเต็มเอี๊ยดแล้ว มี supply มากกว่า demand เช่น ธุรกิจ telecom ที่ตอนนี้มีเปิดซิมใช้บริการมากถึง 80-90 ล้านซิม มากกว่าจำนวนประชากรในประเทศ กว่า 40% ถ้าเป็นลักษณะนี้ ให้มองไปที่ส่วนแบ่งตลาด ถ้าใครสามารถกินส่วนแบ่งตลาดจากรายอื่นได้ (มีจุดเด่นบางอย่าง ที่รายอื่นๆ ไม่มี) แสดงว่ายังสามารถเติบโตได้อีก แต่จะไม่ดีเท่าธุรกิจที่ demand มากกว่า supply เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงในการทำการตลาด เพื่อแย่ง market share

ธุรกิจเครือข่ายสาขา เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ พวกนี้สามารถทำซ้ำความสำเร็จได้เรื่อยๆ เพียงแค่ขยายสาขาไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นเป้าหมาย การเลือกซื้อหุ้นในลักษณะนี้ ไม่ควรมองแค่ราคาในปัจจุบัน แต่ควรจะมองไปยังอนาคตด้วย ว่าเรากำลังจะเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นๆ ที่กำลังจะมีสาขาเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ภายในไม่กี่ปี ถึงตอนนั้น รายได้ก็ควรจะเพิ่มขึ้นมาก โดยที่เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และคอยติดตามผลประกอบการของบริษัท เป็นระยะ

ทีนี้มาดูในเรื่องของ ข้อควรระวัง และกับดักการลงทุนในหุ้นเติบโต

หุ้นเติบโต หรือ growth stock น่าลงทุนก็จริง แต่ก็ควรจะลงทุนด้วยความระมัดระวัง เช่น ไม่ควรซื้อในราคาที่แพงเกินไป ควรจะคำนึงถึงส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ margin of safety

ไม่ควรซื้อหุ้น ในราคาที่บวกความคาดหวังอนาคตไปแล้ว เพราะตลาดคาดเดาอารมณ์ได้ยาก ถ้ากำไรบริษัท ไม่เติบโตตามที่ตลาดคาดการณ์ ราคาหุ้นจะตกหนักกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เงินต้นเสียหายได้

ไม่มีสูตรตายตัว ว่าเราควรจะมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเท่าไหร่ แต่ขอแนะนำว่า margin of safety ประมาณ 30% ของมูลค่ากิจการที่เราคำนวณได้ จะค่อนข้างปลอดภัยพอสมควร

ข้อควรระวังอีกข้อหนึ่ง ในการซื้อหุ้น growth คือ หุ้นบางตัวมีอัตราทำกำไรต่ำมาก เพราะสภาพการแข่งขันในตลาดสูง เช่น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบิน

ธุรกิจพวกนี้ดูเผินๆ เหมือนเป็นหุ้นเติบโต เพราะมีการเพิ่ม capacity ตลอดเวลา แต่ถ้าสังเกตให้ดี แม้จะมีการเพิ่ม capacity และมีอัตราการใช้บริการสูงถึง 75-80% ก็ยังแทบจะไม่ทำกำไร หรือบางครั้งขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะ fixed cost สูงตามการเพิ่มขึ้นของ capacity การจะทำให้คุ้มทุน หรือ break even ต้องอัดโปรโมชั่น เพื่อเพิ่มอัตราการจอง ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา จนต้องยอมขายสินค้าขาดทุน และถึงแม้จะแย่ง market share รายอื่นๆ มาได้ ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงมาก

AAV Q2 Y2014
AAV Q2 Y2014

นอกจากนี้ ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงไม่น่าเชื่อ กว่าจะเริ่มเห็นกำไร ต้องมีอัตราการจองในระดับ 80-90% ขึ้นไป ซึ่งเป็นไปได้ยาก ในสภาพตลาดที่แข่งขันสูง จากทั้งคู่แข่งในประเทศ และคู่แข่งจากต่างประเทศ

ต่างกับหุ้นที่มี fixed costs ไม่สูงมาก สามารถ break even ได้เร็ว และลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมา แทบจะนับเป็นกำไรได้ทันที เช่น ธุรกิจสื่อสาร, ธุรกิจร้านอาหาร ฯลฯ

ข้อควรระวังข้อสุดท้าย หุ้นที่มีการขยายสาขามากๆ และมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งอาจจะดูเหมือนเป็นหุ้นเติบโต แต่แท้จริงแล้วไม่เติบโตจริง และมีทีท่าว่าจะเป็นหุ้นตะวันตกดิน ตัวอย่างเช่น หุ้นกิจการร้านหนังสือ หุ้นกิจการร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

หุ้นลักษณะนี้อาจจะมองยากว่าเป็นหุ้นเติบโตจริงหรือไม่ เพราะตัวเลขยอดขายดูเติบโตดีมาโดยตลอด แต่ถ้าสังเกตที่ same store sales (SSS) รายเดือน หรือรายไตรมาส เราจะเห็นว่า SSS เริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ แต่ที่ยอดขายมันยังเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส เพราะมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

การที่ธุรกิจลักษณะนี้ มี SSS ลดลงเรื่อยๆ ชี้ให้เห็นว่าความต้องการบริโภคสินค้านั้นๆ เริ่มลดน้อยลง เราควรจะระวัง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (เช่น 7-Eleven ที่ SSS ลดลง แต่เป็นเพราะนโยบายชั่วคราวของ คสช. ทำให้ต้องปิดร้านตั้งแต่ 4 ทุ่มทั่วประเทศ และกว่าจะเปิดให้บริการอีกครั้ง ก็เช้าวันถัดไป ทำให้ SSS ลดลง เป็นต้น)

7_Eleven

หาก SSS ลดลง เพราะสินค้าของบริษัทเริ่มไม่ได้รับความนิยม, มีสินค้าทดแทนชนิดอื่นที่ดีกว่า, คู่แข่งเริ่มมากขึ้นจนตลาด over supply หรืออะไรก็ตาม ที่เป็นผลกระทบระยะยาวต่อตัวบริษัท แบบนี้เราควรจะระวังให้มาก และเริ่มปรับลดการลงทุนในหุ้นนั้นๆ

หากเรารู้จักอดออมตั้งแต่เนิ่นๆ เน้นลงทุนระยะยาวในหุ้นเติบโต  และตรวจสอบกิจการที่เราลงทุน อย่างสม่ำเสมอ โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จในการลงทุน ก็ยิ่งมีมาก

ในทางกลับกัน หากเราลงทุนด้วยความไม่รู้ หรือไม่ตรวจสอบกิจการที่เราลงทุนอย่างสม่ำเสมอโอกาสที่จะลงทุนผิดพลาด ก็สูงมากเช่นกัน

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านบ้าง ไม่มากก็น้อย… มีความสุขกับการลงทุนครับ

Runner. Investor. Father.