ส่องหุ้นผ่าน Top Line

By ธันวา เลาหศิริวงศ์

ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นสองปีช่วงปี 1988-1989 และยังกลับไปอยู่เสมอ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย วิถีชีวิตของคนที่น่าสนใจ อาหารอร่อย อากาศดี การเดินทางที่สะดวก แม้เวลาจะล่วงเลยกว่ายี่สิบปี ความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างอาจมีไม่มากนักแตกต่างกับประเทศที่กำลังพัฒนา จากการเดินทางครั้งล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับค่าครองชีพคือ เครื่องดื่มกระป๋องมีราคาขายต่ำสุดอยู่ที่ 110 เยนซึ่งแทบไม่แตกต่างกับสมัยที่เคยอยู่ญี่ปุ่นทีเดียว ทำให้คิดได้ว่า การเติบโตด้านยอดขายหรือรายได้ของบริษัทในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นสิ่งที่ท้าทายมากเช่นกัน

Investopedia คือ วิกิพีเดียด้านการลงทุน กล่าวถึง “TOP LINE” ว่าคือ บรรทัดบนสุดของงบกำไร ขาดทุน นั่นคือ ยอดขายหรือรายได้ของบริษัท ขณะที่บรรทัดสุดท้าย “BOTTOM LINE” หมายถึง กำไร นั่นเอง แม้แต่ละบริษัทจะมีรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน แต่วิธีง่ายๆ ในการประเมินคุณภาพกิจการได้แก่ หนึ่ง การเติบโตยอดขายหรือรายได้และคุณภาพการเติบโต สอง การเติบโตของกำไร และคุณภาพการเติบโตของกำไร

นักลงทุนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับ “กำไรและการเติบโตของกำไร” ทั้งนี้เพราะกำไรมีผลกระทบต่อราคาหุ้นโดยตรง หากบริษัทประกาศผลประกอบการที่กำไรดี ราคาหุ้นจะสะท้อนในเชิงบวก และยิ่งหากมีอัตราการเติบโตของกำไรสูง ราคาหุ้นก็ยิ่งจะปรับตัวในอัตราที่มากขึ้นพร้อมกับความคาดหวังที่สูงขึ้นไปด้วย

“ขนาด” ของ TOP LINE เป็นองค์ประกอบสำคัญที่บ่งบอกถึง “ศักยภาพ” ของธุรกิจ หากลองพิจารณาเปรียบเทียบศักยภาพธุรกิจระหว่างบริษัทที่มียอดขาย 500 ล้าน กับ 5,000 ล้าน หรือกับ 50,000 ล้าน หรือกับบริษัทระดับแสนล้านบาท จะเห็นความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งสินค้าและผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ บุคคลากร บริษัทยอดขายสูงส่วนใหญ่จะมีผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนในประเทศมากกว่า การมีผู้ซื้อรายย่อยมากรายและไม่ใช่สินค้าอุตสาหกรรม ย่อมหมายถึง การมีผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการในวงกว้าง ส่งผลดีต่ออำนาจต่อรองและส่งผลดีต่อกำไรอีกด้วย

“การเติบโตของ TOP LINE” แสดงถึง “คุณภาพ” ซึ่งอัตราการเติบโตอาจสำคัญกว่า “ขนาด” โดยทั่วไป กิจการขนาดเล็กจะเติบโตสูงกว่าเพราะฐานธุรกิจเล็กกว่า กิจการในประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตสูงกว่าเนื่องจากโอกาสที่มากกว่านั่นเอง

แอปเปิล (AAPL) ซึ่งมีไอโฟน ไอแพด ไอพอด แม็คบุ๊ค ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มียอดรายได้ 65,225 ล้าน 108,249 ล้านและ 156,508 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010, 2011, 2012 ตามลำดับ บริษัทมีความโดดเด่นทั้งศักยภาพและคุณภาพ จากยอดขายและอัตราการเติบโต ส่งผลให้เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในโลก แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค นักลงทุนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนด้วย

บริษัทค้าปลีกชั้นนำของโลกอย่างห้าง วอลล์มาร์ท (WMT) มียอดขาย 408,085 ล้าน 421,849 ล้านและ 449,950 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ ปลายเดือนมกราคมปี 2010, 2011, 2012 ตามลำดับ บริษัทมีความโดดเด่นด้านขนาดหรือ “ศักยภาพ” แต่ความโดดเด่นด้านการเติบโตลดลง ทั้งนี้เพราะรายได้หลักของบริษัทอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการเติบโตไม่สูงมากนัก ขณะที่บริษัทซีพีออลล์ (CPALL) หรือร้านค้าปลีก 7-11 มียอดขาย 117,760 ($3,800) ล้าน 141,083 ล้าน ($4,550) 161,889($5,200) ล้าน และ 143,664($4,650) ล้านบาท ณ สิ้นปี 2009, 2010, 2011 และ 9 เดือนของปี 2012 ตามลำดับ จะเห็นว่า ซีพีออลล์ที่อยู่ในประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่า จะโดดเด่นกว่าในด้านคุณภาพการเติบโต

อนึ่ง บริษัทขนาดใหญ่ของโลกได้นำกลยุทธ์เพื่อเอาชนะความท้าทายด้านการเติบโตที่แตกต่างกัน ได้แก่ เน้นลงทุนและคาดหวังการเติบโตจากประเทศที่ยังมีการเติบโตสูง การเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด การเพิ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือบางแห่งเลือกวิธีลดค่าใช้จ่าย การนำเงินส่วนเกินมาซื้อหุ้นคืน ซึ่งทั้งสองอย่างหลังเป็นการเพิ่ม BOTTOM LINE หรือกำไรให้มากขึ้นแต่ไม่ได้เป็นการเพิ่มคุณภาพและศักยภาพของธุรกิจผ่าน TOP LINE อย่างแท้จริง

ข้อควรระวังเมื่อพิจารณา TOP LINE ของบริษัทในอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของราคาต่อหน่วยอย่างมาก จะทำให้ภาพของขนาดและการเติบโตผิดไปจากความเป็นจริง วิธีนี้จึงไม่เหมาะมากนักซึ่งอาจเลี่ยงด้วยการประเมินของปริมาณจำหน่ายแทนการใช้ TOP LINE

ในฐานะ Value Investor จำเป็นต้อง “คิด วิเคราะห์” ทั้งด้านขนาดและการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการ หากสามารถ “แยกแยะ” บริษัทที่โดดเด่นทั้งด้าน “ศักยภาพ” และ “คุณภาพ” ของการเติบโตในระยะยาวทั้ง “TOP LINE” และ “BOTTOM LINE” ได้แล้ว อาจพิจารณาเลือกใช้กลยุทธ์ “ซื้อด้านเดียว” หรือ การซื้อหุ้นและเป็นเจ้าของกิจการในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลยุทธ์นี้สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า หุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสมในตลาดปัจจุบันอาจเป็นหุ้นที่เราถืออยู่ หากเป็นเช่นนั้น ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ทำไมเราต้องคอยหาหุ้นใหม่และเปลี่ยนไปซื้อหุ้นที่มีศักยภาพและคุณภาพด้อยลง