ราคาหุ้นที่เหมาะสม

ราคาหุ้นที่ไม่เหมาะสม ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โดยทั่วไปแล้วผมคิดว่า หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีราคาหุ้นที่เหมาะสม นั่นก็คือ มูลค่าพื้นฐานของหุ้นเท่ากับราคาหุ้นที่ซื้อขายกัน

ในตลาดขณะนั้น-โดยเฉลี่ย นั่นแปลว่า การที่จะทำกำไรโดยการซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน หรือหุ้น “Undervalue” แล้วหวังว่า จะขายเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปสู่มูลค่าพื้นฐาน และทำกำไรมากกว่าปกติ เป็นเรื่องยาก แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า หุ้นทุกตัวต้องมีราคาเท่ากับมูลค่าพื้นฐานพอดี ว่าที่จริงมีหุ้นน้อยตัวมากที่มีราคาหุ้นเท่ามูลค่าพื้นฐาน อาจจะมีหุ้นถึง 50% ที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน แต่ก็มีหุ้นอีก 50% ที่มีราคาสูงกว่าพื้นฐาน เฉลี่ยแล้วราคาหุ้นจึงเท่ากับมูลค่าพื้นฐาน

ประเด็นสำคัญ ก็คือ เราไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนสูงกว่าพื้นฐานหรือหุ้นตัวไหนต่ำกว่าพื้นฐาน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำกำไร จากการหาหุ้นที่ Undervalue และนี่ก็คือ แนวความคิดของ ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ หรือ Efficient Market แบบง่ายที่สุด

ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ผมใช้คำว่า “โดยทั่วไป” นั่นแปลว่า ในบางสถานการณ์และหรือในหุ้นบางตัว ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเราจะสามารถหาหุ้นที่ Undervalue หรือ Overvalue ได้ โดยที่โอกาสที่เราจะคิดถูกมีมากกว่า 50% และทำให้เราสามารถซื้อขายหุ้นทำกำไรได้งดงามกว่าปกติ และนี่ก็คือ แนวความคิดว่า ตลาดหุ้นนั้น ยังไม่มีประสิทธิภาพพอ คนที่ศึกษาค้นคว้า และใช้หลักการที่ถูกต้องสามารถเข้าไปฉกฉวยประโยชน์จากความไร้ประสิทธิภาพนี้ได้-อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ผมใช้คำว่า อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อบอกให้รู้ว่า ในบางช่วงบางตอน อาจจะมีคนที่สามารถทำกำไรเกินกว่าปกติได้โดยใช้วิธีการ หรือเทคนิคบางอย่าง แต่ไม่ช้านาน วิธีการนั้นก็ “หมดสมรรถภาพ” และเมื่อเวลาผ่านไปยาวนาน ผลการลงทุนก็กลับมาใกล้เคียงกับที่ควรเป็น คือเฉลี่ยแล้ว ก็ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตลาดหุ้น ซึ่งในกรณีอย่างนี้ เราก็ยังถือว่าตลาดหุ้นยังมีประสิทธิภาพ

กลับมาที่เรื่องของหุ้น Under หรือ Overvalue ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบในเรื่องนี้ น่าจะเกิดจากเรื่องของจิตวิทยา ซึ่งในระยะหลัง มีการศึกษากันมากเรียกว่าวิชา “การเงินพฤติกรรม” หรือ Behavioral Finance ซึ่งบอกว่าคนเรานั้น ไม่ได้ใช้แต่เหตุผลในการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียว บ่อยครั้งคนเราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ ความ “กลัว” และความ “โลภ” ความกลัวการขาดทุนมากมาย อาจทำให้คนขายหุ้นแบบไม่มีเหตุผล ทำให้หุ้นมีราคาถูกกว่าพื้นฐานมาก

เช่นเดียวกัน ความโลภอาจทำให้คนซื้อหุ้น โดยไม่ได้คิดถึงพื้นฐานและ “ไล่ราคา” จนทำให้หุ้นมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงไปมาก และนี่ทำให้เกิดโอกาสมหาศาลสำหรับคนที่สามารถ “ใช้เหตุผล” ในการตัดสินใจลงทุนเป็นหลัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในอเมริกาที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มาก ตกลงมาเกือบครึ่งหนึ่ง และเป็นโอกาสของเหล่า “VI” ทั่วโลกสามารถซื้อหุ้นทำกำไรได้อย่างงดงาม เมื่อราคาหุ้นฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

หุ้นที่มีราคาไม่เหมาะสมกับพื้นฐานนั้น ยังน่าจะรวมถึงกรณีที่หุ้นถูก “ละเลย” หรือ “มองข้าม” เพราะหุ้นอาจจะมีขนาดเล็ก และคนไม่ใคร่สนใจ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่คนหลีกเลี่ยงไม่อยากลงทุน

กรณีแบบนี้มักจะเห็นได้ชัดจากการที่หุ้น “ขาดสภาพคล่อง” มีการซื้อขายต่อวันต่ำมาก กรณีแบบนี้หุ้นน่าจะมีโอกาส Undervalue หรือราคาหุ้นต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริงมากกว่าที่จะสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง หุ้นบางตัวที่ไม่มีสภาพคล่อง ก็อาจจะมีราคาสูงกว่าพื้นฐานได้ เนื่องจากหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อยมาก และราคา ถูก “ไล่” ไปจน “ติดมุม” และค้างอยู่อย่างนั้น

ตรงกันข้าม หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงมาก เช่น การซื้อขายต่อวันสูงเกินกว่า 1% ของ Market Cap.หรือมูลค่าตลาดของหุ้นโดยเฉลี่ย และหุ้น มี “ราคาแพง” วัดจากค่า PE ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดมาก หุ้นแบบนี้อาจเรียกว่า Glamorous Stock หรือเรียกว่าเป็นหุ้นที่ “ฟู่ฟ่า” มีเสน่ห์เร้าใจให้หลงใหล หุ้นลักษณะนี้มักจะมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริง การศึกษาตลอดมามักจะพบว่าหุ้นที่ถูกละเลยนั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นที่ฟู่ฟ่ามาก ซึ่งอาจเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า หุ้นที่ “ถูกละเลย” นั้น Undervalue และหุ้นที่ “ร้อนแรง” นั้น Overvalue

ราคาหุ้นที่ไม่เหมาะสม หรือความไร้ประสิทธิภาพของตลาด คนที่อธิบายได้อย่างน่าเชื่อถือมากที่สุดคนหนึ่ง น่าจะเป็น จอร์จ โซรอส เพราะเขาเป็นคนที่ “หากิน” กับความ “ไม่สมดุล” ของหุ้นและตลาดเงินตลาดทุน ว่าที่จริงเขาน่าจะได้รับฉายาว่าเป็น “เทพแห่งการเก็งกำไร” จากความแตกต่างระหว่างราคา และมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของตราสารการเงินทั้งหลาย สิ่งที่ จอร์จ โซรอส เสนอเอาไว้อยู่ในทฤษฎีที่เขาเรียกว่า Reflexivity ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อ่านเข้าใจยากมาก แต่หลักการสำคัญ ก็คือ เขาบอกว่าทรัพย์สินทั้งหลายในตลาดนั้น มีราคาแตกต่างห่างไกลจากราคาที่ “สมดุล” หรือ ราคาที่เหมาะสมตามพื้นฐานมาก

เหตุผลก็เพราะว่าราคาตลาดของทรัพย์สินนั้น เป็นผลจากกระบวนการย้อนกลับสองด้าน หรือย้อนกลับไปมาของคนที่ “เล่น” หรือเกี่ยวข้องอยู่ในตลาด นั่นคือ คนที่เล่น หรือนักลงทุนกลุ่มแรก อาจจะเข้ามาขับเคลื่อนราคาหุ้น หรือตราสารการเงินโดยอิงกับความคิดความเข้าใจ หรือการวิเคราะห์ที่ผิด ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไป หรือตกลงมา ด้วยความคิดที่ผิด ก็จะกลับไปกระทบกับความคิดของนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือแม้แต่ตนเอง ทำให้พวกเขาคิดผิดเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น เข้าไปซื้อหุ้นหรือขายหุ้นเพิ่ม เนื่องจากเห็นว่าราคาวิ่งขึ้น หรือตกลงมาอย่างหนัก กระบวนการย้อนกลับไปมานี้ ทำให้หุ้นกลายเป็นฟองสบู่ หรือตกลงมาต่อเนื่อง และกลายเป็นโอกาสของคนที่เข้าไปฉกฉวยประโยชน์จากความไร้เหตุผลนี้

ราคาหุ้นที่ไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่แล้ว ผมคิดว่ามักจะเป็นอยู่ไม่นาน เพราะในที่สุดแล้ว ก็จะต้องวิ่งเข้าไปหาจุดที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อพื้นฐาน หรือผลประกอบการของบริษัท หรือคนที่ออกตราสารการเงินนั้นปรากฏออกมา เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ความคลุมเครือเกี่ยวกับมูลค่าพื้นฐานก็จะลดลง

เช่นเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป ความ “ฟู่ฟ่า” ของหุ้นที่มี ก็มักจะจางไป และความมีเหตุผลของนักลงทุน ก็มักกลับคืนมา และในอีกด้านหนึ่ง หุ้นที่เคย ถูก “ละเลย” เมื่อผลประกอบการออกมาโดดเด่นต่อเนื่องหลายปี ในที่สุดมันก็จะ ถูก “ค้นพบ” ราคาหุ้นก็จะปรับขึ้นมาหาพื้นฐานที่แท้จริง สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่า ความคิดของ เบน เกรแฮม ยังถูกต้องเสมอ นั่นคือ ในระยะสั้นแล้ว ตลาดก็เหมือนกับเครื่องโหวต นั่นคือ ราคาหุ้นก็ขึ้นอยู่กับ “ความเห็น” ของนักลงทุนไม่ว่าจะถูกหรือผิด แต่ในระยะยาวแล้ว ตลาดเป็นเหมือนเครื่องชั่ง ที่จะบอกว่า ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก หรือผลประกอบการของบริษัท

ดังนั้น สำหรับ VI ที่แท้จริงแล้ว การเน้นมองหา “น้ำหนัก” หรือพื้นฐานของกิจการในระยะยาว จึงเป็นหนทางที่ปลอดภัยที่สุด ที่จะได้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจจากการลงทุน